วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก



                    ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก




ประวัติของโคลเบิร์ก

                ลอเรนส์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg)  ผู้สนใจความประพฤติ ถูก-ผิด-ดี-ชั่วของมนุษย์  ทฤษฎีของโคลเบิร์กได้ชื่อทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม (Moral Development Theory)
                โคลเบิร์ก (Lawrence  Kohlberg) ได้ ศึกษาวิจัยพัฒนาการทางจริยธรรมตามแนวทฤษฎีของพีอาเจต์ แต่โคลเบิรก์ได้ปรับปรุงวิธีวิจัย การวิเคราะห์ผลรวมและได้วิจัยอย่างกว้างขวางในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมต่าง ไป

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก

                โคลเบิร์ก ได้ศึกษาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชนอเมริกัน อายุ 10 -16 ปี และได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages) ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด 6 ขั้น

ระดับที่  1 ระดับก่อนกฏเกณฑ์สังคม จะพบในเด็ก 2-10 ปี

         ขั้นที่ 1  การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง
              
         ขั้นที่ 2  กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน
                
ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม จะพบในวัยรุ่นอายุ 10 -16 ปี

         ขั้นที่ 3 การยอมรับของกลุ่มหรือสังคม
                
         ขั้นที่ 4  กฎและระเบียบของสังคม              

ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมอย่างมีวิจารณญาณ
                
         ขั้นที่ 5  สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา

         ขั้นที่ 6  หลักการคุณธรรมสากล

          โคลเบิร์ก ได้ทำการวิเคราะห์เหตุผลเชิงจริยธรรม โดยทำการวิเคราะห์คำตอบของเยาวชนอเมริกันอายุ ๑๐-๑๖ปี และแบ่งประเภทเหตุผลเชิงจริยธรรมใว้ ๖ ประเภทคือ
    
ขั้นที่ 1 การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง

        ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า  พฤติกรรมของตน “ถูก” หรือ “ผิด” ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ  “ผิด” พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ถูก” 

 ขั้นที่ 2  กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน

         ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ  เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง

ขั้นที่ 3 การยอมรับของกลุ่มหรือสังคม
        ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน  ไม่เป็นตัวของตัวเอง  คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น  เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี  

ขั้นที่ 4  กฎและระเบียบของสังคม              
      จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด  เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม  ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม 

ขั้นที่ 5  สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา
      ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม

ขั้นที่ 6  หลักการคุณธรรมสากล
         ในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก” และ  “ผิด”  เป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ

ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมจะมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านความคิดเป็นเหตุเป็นผล บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นไปตามลำดับ ไม่มีการข้ามขั้น

วีดีโอ




ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์



                                                 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์





ประวัติของซิกมันต์ฟรอยด์

         ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนายแพทย์ จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาชาวออสเตรียเกิดเมื่อวันที่   06 พฤษภาคม ค.ศ. 1856และเสียชีวิตเมื่อวันที   23 กันยายน ค.ศ. 1939 เป็นผู้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านการพัฒนา Psychosexual
         ฟรอยด์เชื่อว่า  บุคลิกภาพ ของผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันก็เนื่องจากประสบการณ์ของแต่ละคนในวัยเด็ก และขึ้นอยูกับเด็กแต่ละคนแก้ปัญหาของความขัดเเย้งของแต่ละวัยอย่างไร โดยอายุ 0-6 ปี มีความสำคัญมาก

ฟรอยด์ยังแบ่งกระบวนการคิด ออกเป็น 2 ลักษณะ

          1. Secondary Process เป็นกระบวนการคิดที่เราคุ้นเคยและใช้กันอยู่ ในระดับจิตสำนึกและจิตก่อนสำนึกมีกระบวนการคิดเช่นนี้ เป็นการคิดที่ยึดเหตุผล มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง (reality principle) เช่น คนเราบางครั้งผิดหวังและบางครั้งก็มีสมหวัง หรือสิ่งที่ต้องการบางอย่างอาจต้องรอคอยบ้าง
          2. Primary Process เป็นกระบวนการคิดในระดับจิตไร้สำนึก วิธีคิดเป็นแบบเด็ก ๆ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่สนใจเรื่องเวลาหรือสถานที่ สิ่งที่ต้องการคือความสุข ความสมหวัง ซึ่งหากต้องการก็จะต้องได้รับการตอบสนองทันทีจึงจะพอใจ โดยไม่คำนึงว่าผลตามมาจะเป็นอย่างไร (pleasure principle) 
          ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่การฝัน ซึ่งเหตุการณ์ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งที่อยู่คนละมิติ คนละเวลากัน สามารถมาอยู่ด้วยกันได้ หากนึกถึงอะไรก็จะได้สิ่งนั้น


ฟรอยด์ได้แบ่งขั้นพัฒนาการทางเพศไว้ 5 ขั้นตอน คือ

          1.ขั้นความสุขความพอใจบริเวณปาก (oral stage) อายุ 0-2 ปี ความพึงพอใจของวัยนี้จะอยู่ที่บริเวณช่องปาก ทารกพึงพอใจกับการใช้ปากทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสุข เช่น การดูด กลืน

          2.ขั้นความสุขความพอใจบริเวณทวารหนัก (anal stage) อายุอยู่ในช่วง 18 เดือน ถึง 3 ปี วัยนี้จะได้รับความพึงพอใจจากการขับถ่าย

          3.ขั้นความพอใจบริเวณอวัยวะเพศ (phallic or oedipal stage) จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 3 ถึง 5 ปี ความพึงพอใจของเด็กวัยนี้อยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เด็กจะสนใจอวัยวะเพศของตนและสนใจความความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย

          4.ขั้นแฝงหรือขั้นก่อนวัยรุ่น (latency stage) มี อายุอยู่ในช่วง 6 ถึง 12 ปี ฟรอยด์กล่าวว่าเด็กวัยนี้จะมุ่งความสนใจไปที่พัฒนาการด้านสังคมและด้านสติ ปัญญา เป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้การมีเหตุผล รู้ผิดชอบชั่วดี สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว

         5.ขั้นสนใจเพศตรงข้ามหรือขั้นวัยรุ่น (genital stage)  วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่อายุ 13-18 ปี เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้าม มีแรงจูงใจที่จะรักผู้อื่น มีความต้องการทางเพศ ความเห็นแก่ตัวลดลงต้องการเป็นอิสระจากพ่อแม่ เป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่


โครงสร้างบุคลิกภาพ (The personality structure)
          
          ฟรอยด์มีความเชื่อว่า ลักษณะจิตใจของบุคคลสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
            1.อิด (Id) เป็นเสมือนแรงจูงใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความต้องการของร่างกาย
            2.อีโก้ (Ego ) เป็นสิ่งที่จะทำให้อิดบรรลุตามจุดมุ่งหมาย
            3.ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นส่วนที่เป็นมโนธรรมและศีลธรรม
             การ ทำงานของคนทั้ง 3 ประการจะพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลให้เด่นไปด้านใดด้านหนึ่งของทั้ง 3 ประการนี้ แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้

กลไกในการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism)

       1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence)
       2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) 
       3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) 
       4. การเลียนแบบ (Identification) 
       5. การกล่าวโทษผู้อื่นหรือการโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น (Project) 
       6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) 
       7. การเก็บกด (Repression) 
       8. การขจัดความรู้สึก (Suppression) 
       9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization)
      10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) 
      11. การถดถอย (Regression) 
      12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming)
      13. การแยกตัว (Isolation) 
      14. การแทนที่ (Displacement) 
      15. การไม่ยอมรับความจริง (Denial of Reality) 
      16. การแสดงความก้าวร้าว (Aggression)
               กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) จึงเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึก กลไกในการป้องกันตัวมักจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลปกติทุกวัย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยชรา เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันตัวจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผลหรือแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด


วีดีโอที่เกี่ยวข้อง



 ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์



                                ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์








ประวัติของเพียเจต์
               จอร์น เพียเจต์ (ค.ศ.1896 - 1980) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญา เพียเจย์เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิส ได้รับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ สาขาสัตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยNeuchatel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไรโดยตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม

แนวคิด
การเรียนรู้ของเด็กจะเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะเป็นไปตามวัยเป็นลำดับขั้น เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งเพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก ในวัยอนุบาลเป็นช่วงพัฒนาความจำและจินตนาการการคิดยังไม่ได้ใช้หลักเหตุผลและผล ยังไม่ได้คิดย้อนกลับ ยังยึดตนเองเป็นหลักในการเรียนรู้ (Egocentric Thinking)


กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้

1.การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
2.การปรับและจัดระบบ (accommodation) เป็นกระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่
3.การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ มีสาระสรุปได้ดังนี้
1) พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
   1.1) ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motorb Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี
   1.2) ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี แบ่งออกเป็นขั้นย่อยอีก 2 ขั้น 
· ขั้นก่อนเกิดสังกัป  (Preconceptual  Thought)  เด็กอายุ 2-4 ปี
· ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ (Intuitive  Thought) เด็ก  อายุ 4-7 ปี
   1.3 ) ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete  Operation  Stage)  ขั้นนี้จะเริ่มจากอายุ 7-11 ปี
   1.4 ) ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal  Operational  Stage)  นี้จะเริ่มจากอายุ 11-15 ปี

เพียเจต์ ( Piaget) ได้นำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งขั้นพัฒนาจริยธรรมออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้
ขั้นก่อนจริยธรรม
ขั้นยึดคำสั่ง
ขั้นยึดหลักแห่งตน 

ประสบการณ์สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม  มี 6  ขั้น ได้แก่
   1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute  Differences)
   2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition)
   3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete  Degree)
   4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation)
   5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function)
   6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact  Compensation)

2) ภาษาและกระบวนการคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่


เพียเจต์สรุปว่า 
      พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม 

วีดีโอ

ทฤษฎีพัฒนาการทางจิต- สังคม อีริคสัน


                                                       
                                อีริค อีริคสัน (Erik Erickson)




ประวัติ

อีริคสัน เป็นลูกศิษย์ของฟรอยด์ได้สร้างทฤษฎีขึ้นในแนวทางความคิดของฟรอยด์ แต่ได้เน้นความสำคัญ ทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ (Psychological Environment) ว่ามีบทบาทใน พัฒนาการบุคลิกภาพมาก ความคิดของอีริคสันต่างกับฟรอยด์หลายประการ เป็นต้นว่า เห็นความสำคัญของ Ego มากกว่า Id และถือว่าพัฒนาการของคนไม่ได้จบแค่วัยรุ่น แต่ต่อไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต คือ วัยชรา และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคลิกภาพของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แนวคิด
แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับวิกฤตภายในเชื่อมโยงกับแต่ละขั้นของชีวิต (จิตวิทยาสังคม) 8 ครั้ง ซึ่งในสามขั้นแรกถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดซึ่งเกิดในช่วงปฐมวัย คือ ขั้นที่ 1 การเชื่อใจ-การไม่เชื่อใจ ขั้นที่ 2 การเป็นตัวของตัวเอง-ความละอายใจและความสงสัย ขั้นที่3 การคิดริเริ่ม-การรู้สึกผิด



แนวคิดพัฒนาการทฤษฎีจิตสังคมของอีริคสัน (Erikson)
   
  อีริคสัน Psychosocialแบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น
         ขั้นที่ 1 อายุ 1-2 ขวบ ไว้ใจ หรือไม่ไว้ใจ (Trust vs Mistrust)
         ความอบอุ่นที่เกิดจากครอบครัว ทำให้เด็กเชื่อถือไว้ใจต่อโลก ไว้ใจคนอื่น ทำให้กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่





       ขั้นที่ 2 อายุ 2-3 ขวบ เป็นอิสระหรือละอายสงสัย(Autonomous vs Shame and Doubt)ระยะที่เด็กพยายามใช้คำพูดของตัวเองและสำรวจโลกรอบๆตัว ถ้าพ่อแม่สนับสนุนจะทำให้เด็กรู้จักช่วยตนเองและมีอิสระ ส่งเสริมความสามารถของเด็ก 





       ขั้นที่ 3  อายุ 4-5 ขวบ คิดริเริ่ม หรือรู้จักผิด(Initiative vs Guilt)
 บทบาทของสังคม ริเริ่มทางความคิดจากการเล่น เด็กที่ถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรในสิ่งที่เขาอยากทำ เป็นเหตุให้เด็กรู้สึกผิด ตลอดเวลา บิดามารดาควรพิจารณาร่วมกันว่ากิจกรรมใดที่ปล่อยให้เด็กทำได้ ก็ให้เด็กทำ จะได้เกิดคุณค่าในตัวเอง ลดความรู้สึกผิดลงได้ 





       ขั้นที่ 4 อายุ 6-11 ขวบ ขยัน หรือมีปมด้อย
(Industry vs Inferiority) เด็กจะเริ่มมีทักษะทางด้านร่างกายและสังคมมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เด็กเริ่มมีการแข่งขันกันในการทำงาน เด็กวัยนี้จะชอบให้คนชม ถ้าขาดการสนับสนุนอาจทำให้เกิดความรู้สึกมีปมด้อย





         ขั้นที่ 5 อายุ 11-18 ปี เข้าใจบทบาทของตัวเอง หรือ สับสนในบทบาทของตัวเอง(Ego Identity vs Role Confusion)
ระยะมีเอกลักษณ์ของตนเองกับความไม่เข้าใจตนเอง : เป็นระยะที่เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้ามรู้จักตนเอง ว่าเป็นใคร ถนัดด้านใด สนใจอะไร และถ้าเด็กมีความรู้สึกไม่เข้าใจตนเองก็จะเกิดความสับสน ในตนเอง และล้มเหลวในชีวิตได้





         ขั้นที่ 6 อายุ 20-35 ปี ผูกพัน หรือตีตัวออกห่าง(Intimacy vs Isolation) เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ทำงานเพื่อประกอบอาชีพ สร้างหลักฐาน มีความรักความผูกพัน 





        ขั้นที่ 7 อายุ 36-45 ปี ให้กำเนิด หรือหมกมุ่นในตัวเอง(Generativity vs Stagnation) ระยะให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร 
วัยผู้ใหญ่ถึงวัยกลางคน มีครอบครัวมีบุตร ได้ทำหน้าที่ของพ่อแม่ 





          ขั้นที่ 8 อายุ 45 ขึ้นไป มีศักดิ์ศรี หรือหมดหวัง
(Ego Integrity vs Despair) วัยที่ต้องยอมรับความจริงของชีวิต ระลึกถึงความทรงจำในอดีต ถ้าอดีตที่ผ่านมาแล้วประสบความสำเร็จจะทำให้มีความมั่นคงทางจิตใจ






ประยุกต์ใช้ทฤษฎีของอีริค อีริคสัน

        
    ทฤษฎีนี้ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพ โดยบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลเป็นผลของการเลี้ยงดู และการส่งเสริมแต่ละช่วงวัย ในการจัดการเรียนการสอนครูควรให้จัดให้มีกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกทั้งในด้านของความคิด ด้านสติปัญญา ด้านความสามารถ ให้อิสระทางความคิดต่อเด็ก ให้เด็กได้สร้างผลงานต่างๆ ด้วยตนเอง ให้เด็กเกิดความภูมิใจในตัวเอง ครูต้องให้ความเชื่อใจและไว้วางใจในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง มีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ โดยการได้ทดลองได้เรียนรู้จะทำให้เด็กได้รู้จักตนเองว่าตนมีความชอบหรือมีความสนใจในด้านไหน และครูควรคอยส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาในสิ่งที่ตนชอบ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมครูควรมีการจัดให้เด็กใช้กิจกรรมกลุ่มโดยให้เด็กแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง เพื่อให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม

 สรุป 
ทฤษฎีของอีริคสัน เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่งวัยทารกจนถึงวัยชรา อีริคสันเชื่อว่า วัยแรกของชีวิตเป็นวัยที่เป็นรากฐานเบื้องต้น และวัยต่อ ๆ มาก็สร้างจากรากฐานนี้


วีดีโอที่เกี่ยวข้อง






แบบทดสอบ


1. อิริคสัน ได้สร้างทฤษฎีขึ้นในแนวทางความคิด ของฟรอยด์ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านใด?
                     ก.ความสำคัญทางด้านสังคม                           
                     ข.ความสำคัญทางด้านครอบครัว                         
                      ค.ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม
                      ง.ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม

2.ข้อใดเป็นแนวคิดของอีริคสัน ?
                      ก. เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของจริยธรรม
                      ข. เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่งวัยทารกจนถึงวัยชรา
                       ค. เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการทางบุคลิกภาพ
                       ง. เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการทางความคิด

3.อีริคสันแบ่งพัฒนาการออกเป็นกี่ขั้น?
                      ก. 5 ขั้น                 ข. 6 ขั้น
                      ค. 7 ขั้น                 ง. 8 ขั้น

4.ขั้นที่ 1 อยู่ในช่วงอายุเท่าใด?
                          ก.1-2 ขวบ                ข. 3-4 ขวบ
                          ค. 5-6 ขวบ                ง. 7-8 ขวบ

5.เด็กเข้าใจบทบาทของตัวเอง หรือสับสนในบทบาทของตัวเองอยู่ในขั้นใด และช่วงอายุเท่าไหร่?
                     
                       ก.ขั้นที่ 3 อายุ 4-5 ปี
                       ข. ขั้นที่ 4 อายุ 6-11 ปี
                       ค. ขั้นที่ 5 อายุ 11-18 ปี
                       ง. ขั้นที่ 6 อายุ 20-35 ปี

6.เด็กรู้จักคิดริเริ่ม หรือรู้จักผิด อยู่ในขั้นใด?
                                 ก.ขั้นที่ 1             ข.ขั้นที่ 2
                                 ค.ขั้นที่ 3             ง.ขั้นที่ 4

7.ขั้นที่เท่าไหร่ที่จะทำให้เกิดภาวะล้มเหลวในชีวิตได้?
                         ก.ขั้นที่ 4                       ข.ขั้นที่ 5
                         ค.ขั้นที่ 6                       ง.ขั้นที่ 7

8. ความรู้สึกต้องการเพื่อนสนิทที่รู้ใจ  ความรัก ความผูกพัน  จะเกิดขึ้นในช่วงอายุใด
               ก.  6 -12 ปี                                     ข.  12 -17 ปี
               ค.  18 - 34 ปี                                  ง.  35 - 60  ปี


9.ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับทฤษฎีจิต-สังคมของอีริคสัน?
                ก.เห็นความสำคัญของ Ego มากกว่า Id
                ข.เห็นความสำคัญของ Id มากกว่า Ego
               ค.เห็นความสำคัญของ Superego มากกว่า Ego
                ง.เห็นความสำคัญของ Ego มากกกว่า Superego


10.ความสุขของช่วงวัยใดที่ต้องการความสงบสุขในชีวิต
                  ก. ช่วงวัย 12-20 ปี                        ข. ช่วงวัย 21-35 ปี
                  ค. ช่วงวัย 36-59 ปี                        ง. ช่วงวัย 60-80 ปี


เฉลยแบบทดสอบ


1.ข                               2.
3.                               4.
5.                               6.
7.                               8.
9.                               10.

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคิดของ เจโรม บรูเนอร์



                                    ประวัติของ เจโรมบรูเนอร์





           บรูเนอร์เกิดในเมืองนิวยอร์คในปี ค.ศ. 1915 พ่อแม่หวังจะให้เป็นนักกฎหมาย แต่เขากลับมาสนใจทางจิตวิทยา และได้ปริญญาเอกทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   ในปี ค.ศ. 1962  ได้รับรางวัลในฐานะที่มีผลงานดีเด่น  คือ  Distinguished Scientific Contri-bution Award จากสมาคมจิตวิทยาของอเมริกา (APA) ต่อมาในปี ค.ศ.1964 ได้เป็นประธานของ The American Psychological Association (APA) ปัจจุบันเป็นสมาชิกของ Department of Experimental Psychology ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และในขณะนี้มีตำแหน่งเป็นผู้-อำนวยการของ Harvard’s Center for Cognitive Studies.


แนวคิดเชิงทฤษฎีพัฒนาการทางการของ บรูเนอร์

เน้นที่การถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
     
 1. Enactive representation
           
          ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุประมาณ 2 ขวบเป็นช่วงที่เด็กแสดงให้เห็นถึงความมีสติ ปัญญาด้วยการกระทำ และการกระทำด้วยวิธีนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เป็นลักษณะของการถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการกระทำซึ่งดำเนินต่อไปตลอดชีวิต มิได้หยุดอยู่เพียงในช่วงอายุใดอายุหนึ่ง
          บรูเนอร์อธิบายในแง่ที่ว่า เด็กใช้การกระทำแทนสิ่งต่าง ๆ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจ เขาได้ยกตัวอย่างจากการศึกษาของเปียเจท์ ในกรณีที่เด็กเล็ก ๆ นอนอยู่ในเปลและเขย่ากระดิ่งเล่น   ขณะที่เขย่าบังเอิญทำกระดิ่งตกข้างเปลเด็กจะหยุดนิดหนึ่งแล้วยกมือขึ้นดู เด็กทำท่าประหลาดใจและเขย่ามือเล่นต่อไป
          จากการศึกษานี้บรูเนอร์ให้ข้อแนะว่า การที่เด็กเขย่ามือต่อไปโดยที่ไม่มีกระดิ่งนั้น เพราะเด็กคิดว่ามือนั้นคือกระดิ่ง และเมื่อเขย่ามือก็จะได้ยินเสียงเหมือนเขย่ากระดิ่งนั่นคือ เด็กถ่ายทอดสิ่งของ (กระดิ่ง) หรือประสบการณ์ ด้วยการกระทำ ตามความหมายของ บรูเนอร์
          เกี่ยวกับเรื่องนี้บรูเนอร์ให้ความเห็นว่า ในชีวิตประจำวันของเรานั้น บางครั้งจะพบว่าคนโต ๆ จะยังใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการกระทำ   ซึ่งให้ผลดีกว่าการอธิบายด้วยคำพูด  เช่น การสอนคนให้ขี่จักรยาน หรือเล่นเทนนิส หรือการกระทำอื่น ๆ อีกหลายอย่างเราจะพบว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ แสดงให้ดูเป็นตัวอย่างซึ่งจะได้ผลดีกว่าการอธิบาย เพราะเราจะพบว่าเป็นการยากเหลือเกินที่จะอธิบายให้ฟังเป็นขั้นตอน และบางครั้งก็มิสามารถหาคำพูดมาอธิบายได้ เพื่อให้คนมองเห็นภาพ แต่ถ้าเรากระทำให้ดู (acting) โดยมิต้องใช้คำพูดอธิบายผู้เรียนจะเข้าใจทันที ดังนั้นบรูเนอร์จึงมิได้แบ่งพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจให้หยุดอยู่เพียงในระยะแรกของชีวิตเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นกระบวนการต่อเนื่องคนจะนำมาใช้ในช่วงใดของชีวิตอีกก็ได้
     

 2. Iconic representation
           
         พัฒนาการทางความคิดในขั้นนี้อยู่ที่การมองเห็นและการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ จากตัวอย่างของเปียเจท์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเด็กอายุมากขึ้นประมาณ 2-3 เดือน ทำของเล่นตกข้างเปล เด็กจะมองหาของเล่นนั้น ถ้าผู้ใหญ่แกล้งหยิบเอาไป เด็กจะหงุดหงิดหรือร้องไห้เมื่อมองไม่เห็นของ บรูเนอร์ตีความว่า การที่เด็กมองหาของเล่นและร้องไห้ หรือแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อไม่พบของ แสดงให้เห็นว่าในวัยนี้เด็กมีภาพแทนในใจ (iconic representation) ซึ่งต่างจากวัย enactive เด็กคิดว่าการสั่นมือกับการสั่นกระดิ่งเป็นของสิ่งเดียวกัน เมื่อกระดิ่งตกหายไป ก็ไม่สนใจ แต่ยังคงสั่นมือต่อไป
          การที่เด็กสามารถถ่ายทอดประสบการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการมีภาพแทนในใจ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เด็กโตจะยิ่งสามารถสร้างภาพในใจได้มากขึ้น เช่น การทดลองของบรูเนอร์ (1964) กับเด็ฏวัย 5-7 ขวบ โดยให้จัดเรียงลำดับแก้วซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน 9 ใบ ดังแสดงในรูป

การทดลอง
     
         ครั้งแรกบรูเนอร์ให้เด็กดูภาพจากการจัดแก้ว 9 ใบ ดังแสดงในรูป ต่อจากนั้นหยิบแก้ว ออกทีละแถว และให้เด็กจัดเองให้เหมือนเดิม จากนั้นหยิบแก้วทั้ง 9 ใบ ออกจากตะแกรงและให้เด็กจัดให้เหมือนเดิม ปรากฏว่าเด็กวัย  5  ขวบ และ  7  ขวบ สามารถทำได้ ความแตกต่างระหว่างเด็ก 2 วัยนี้คือ เมื่อบรูเนอร์ให้ เรียงสลับ โดยให้เริ่มจากใบใหญ่ให้อยู่ทาง ซ้ายมือ ปรากฏว่าเด็กวัย 5 ขวบ เริ่มต้นอย่างถูกต้อง แต่แล้วก็งง ในที่สุดจัดออกมาเหมือนแบบที่ให้ดูตั้งแต่แรก ส่วนเด็กวัย 7 ขวบนั้น สามารถเรียงสลับได้อย่างถูกต้อง บรูเนอร์จึงสรุปว่า การเกิดภาพในใจซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจนั้นจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้เพราะเด็กรู้จักที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาเป็นสัญลักษณ์ (Symbolic)
     

3. Symbolic representation
         
         หมายถึงการถ่ายทอดประสบการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยการใช้สัญลักษณ์หรือภาษา ซึ่งภาษาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความคิด ขั้นนี้เป็นขั้นที่บรูเนอร์ถือว่าเป็นขั้นสูงสุดของพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจ เด็กสามารถคิดหาเหตุผล และในที่สุดจะเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ และสามารถแก้ปัญหาได้ บรูเนอร์มีความเห็นว่าความรู้ความเข้าใจและภาษามีพัฒนาการขึ้นมาพร้อม ๆ กัน


สรุป

        บรูเนอร์มีความเห็นว่า คนทุกคนจะมีพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจ โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า acting, imaging และ symbolizing เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต มิใช่ว่าเกิดขึ้นเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งในระยะแรก ๆ ของชีวิตเท่านั้น



ข้อแตกต่างระหว่างทฤษฎีของเพียเจต์และบรูเนอร์

เพียเจต์

      -เพียเจต์มองเห็นว่าพัฒนาการทางสมองของเด็กมีขั้นตอน ซึ่งขึ้นอยู่กับ   อายุ กำหนดลงไปเลยว่าเด็กในวัยใดจะมีพัฒนาการทางสมองในเรื่องใด
     -เพียเจต์คำนึงถึงพัฒนาการทางสมองในแง่ของความสามารถในการกระทำสิ่งต่างๆในแต่ละวัย

บรูเนอร์

         -บรูเนอร์ไม่ได้คำนึงถึงอายุ เห็นว่ากิจกรรมต่างๆที่เด็กทำอันเนื่องมาจากพัฒนาทางสมองที่เกิดในช่วงแรกเกิดของชีวิต คนสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในช่วงหลังๆของชีวิตได้อีกด้วย
         -บรูเนอร์คำนึงในแง่ของการกระบวนการที่ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

         -บรูเนอร์เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะทำให้พัฒนาการทางสมองช้าลงหรือชะงักลงและสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะช่วยให้พัฒนาการเป็นไปอย่างรวดเร็ว



   แนวทางในการจัดการเรียนการสอน

          บรูเนอร์ได้กล่าวถึงทฤษฎีในการจัดการเรียนการสอนว่าควรประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ

1. ผู้เรียนต้องมีแรงจูงใจภายใน มีความอยากรู้ อยากเห็นสิ่งต่างๆ
    รอบตัว

2. โครงสร้างของบทเรียนซึ่งต้องจัดให้เหมาะสมกับผู้เรียน

3. การจัดลำดับความยาก-ง่ายของบทเรียนโดยคำนึงถึงพัฒนาการ         ทางสติปัญญาของผู้เรียน

4. การเสริมแรงของผู้เรียน


 แนวคิดของบรูเนอร์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา

       จากขั้นพัฒนาการต่าง ๆ ที่บรูเนอร์เสนอไว้ได้นำไปสู่แนวความคิดในการจัดการ ศึกษาในระดับต่าง ๆ ดังนี้


ระดับอนุบาลและระดับประถมต้น

      บรูเนอร์เห็นว่าเด็กวัยอนุบาลอยู่ในระดับ Iconic representation ซึ่งการเรียนรู้ต่าง ๆ อยู่ในลักษณะของการกระทำ โดยผ่านประสบการณ์ที่ได้พบเห็นและการรับรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้เขากล่าวว่า เด็กวัยนี้ไม่สามารถรออะไรได้นาน ๆ เราควรสนองความพึงพอใจให้กับเด็กอย่างทันท่วงทีที่ทำงานแต่ละครั้งเสร็จ

          บรูเนอร์ยังได้เสนออีกว่า ในการสอนเด็กระดับนี้ ควรให้มีบรรยากาศของความสนุกสนาน ผ่อนปรนไม่ตึงเครียด และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถต่าง ๆเพื่อก่อให้เกิดความมั่นใจ

          เด็กประถมต้นยังอยู่ในวัย Iconic representation เด็กวัยนี้สามารถสร้างภาพในใจได้ บรูเนอร์ได้นำการทดลองของเปียเจท์เกี่ยวกับการรินน้ำมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถสร้างภาพในใจได้ และสามารถที่จะกระตุ้นให้อธิบายความคิดออกมาได้ ครั้งแรกบรูเนอร์ให้เด็กดูแก้ว 2 ใบ ที่ใส่น้ำไว้เท่ากัน พร้อมกับแก้วเปล่าอีก 2 ใบ ใบหนึ่งมีขนาดใหญ่ อีกใบหนึ่งเล็กยาว ต่อจากนั้นเขารินน้ำจากแก้วทั้งสองใบใส่แก้วเปล่าทั้งสองใบโดยไม่ให้เด็กเห็นและให้เด็กลองคิดดูว่าระดับน้ำในแก้ว 2 ใบนั้นจะเท่ากันหรือต่างกัน ผลปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ทำนายได้ถูกต้อง แต่เมื่อบรูเนอร์ให้คิดว่าถ้าจะรินน้ำจากแก้ว 2 ใบนี้กลับไปสู่แก้วเดิม 2 ใบที่เท่ากัน ระดับจะเป็นอย่างไร เด็กตอบไม่ถูก จากการทดลองของบรูเนอร์สรุปได้ว่า เราสามารถสร้างให้เด็กเกิด concept เกี่ยวกับ conservation ได้เร็วขึ้นหน่อย แต่ไม่สามารถ ที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้

          ความคิดของบรูเนอร์เกี่ยวกับเด็กวัยนี้ คือ ยัง ต้องการการสนองความพึงพอใจอย่างทันท่วงทีภายหลังที่ทำงานเสร็จ และบรรยากาศที่ผ่อนปรนไม่ตรึงเครียดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง


ระดับประถมปลาย

         บรูเนอร์ กล่าวว่า เด็กในระดับประถมปลายมีพัฒนาจาก  Iconic representation ไป สู่ Symbolic representation ซึ่งสิ่งที่บรูเนอร์เน้นนี้คล้ายคลึงกับแนวความคิดของเปียเจท์ในหลักการทั่วไป แต่ต่างกันในเรื่องต่อไปนี้

          “พัฒนาการทางสติปัญญา จะแสดงให้เห็นจากการที่เด็กสามารถเลือกจากตัวเลือกหลาย ๆ ตัวในเวลาเดียวกันและสามารถแบ่งเวลาและความสนใจได้อย่างเหมาะสมกับตัวเลือกนั้น ๆ”


ระดับมัธยมศึกษา

       การใช้สัญลักษณ์ (Symbolic representation) ของเด็กวัยนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้น ครูมีวิธีช่วยให้พัฒนาขึ้นไปอีกโดยกระตุ้นให้ใช้ discovery approach โดยเน้นความเข้า ใจใน concept และสิ่งที่เป็นนามธรรมต่าง ๆ



แนวคิดของเปียเจท์-บรูเนอร์ที่มีผลต่อการศึกษา

         จากแนวความคิดของเปียเจท์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่าควร “รอ” ให้เด็กพร้อมเสียก่อน กับแนวความคิดของบรูเนอร์ที่ว่าควรจะ “เร่ง” เพราะความพร้อมเป็นสิ่งที่สอนกันได้ เมื่อพิจารณาแนวความคิดของทั้งสองคนไปพร้อม ๆ กัน ท่าจะได้ข้อคิดอะไรบ้างที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน


ระดับอนุบาล

        Herbert Ginsburg และ Sylvia Opper ได้เสนอข้อสรุปในการที่จะนำทฤษฎีของเปียเจท์ไปใช้ในการสอนไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่นักการศึกษาจะได้มาจากงานของเปียเจท์และนำ ไปใช้ในห้องเรียนได้ก็คือ เด็ก ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ๆ) จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็น “รูปธรรม”  อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมจะขึ้นอยู่กับว่า ท่านมีความรู้สึกเกี่ยวกับ guided ex-perience ที่ตรงกันข้ามกับ natural development อย่างไร ถ้าท่านเห็นด้วยกับนักจิตวิทยาและนักการศึกษาหลายคนในอเมริกาที่จะ “เร่ง” การเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ท่านอาจจะจัดการช่วยเหลือให้เด็กวัยนี้เข้าใจ concept ของ conservation แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าท่านเห็นพ้องด้วยกับความคิดของ Piaget ว่า วิธีการที่ดีกว่าคือ การปล่อยให้เด็กได้รับประสบการณ์ด้วยวิธีการของเขาเอง และตามความเหมาะสมกับวัยของเขาแล้วละก็ ท่านควรจะเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขา เพื่อปล่อยให้เขาได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด แต่พยายามให้น้อยที่สุดที่จะชี้ให้นักเรียนเห็นถึงวิธีสร้างประสบการณ์เหล่านั้น

          ในการที่ท่านคิดเพื่อจะเลือกหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นนี้ ขอให้พิจารณาผลจากการศึกษาของ J. Smedslund (1961) เขาพบว่าเป็นไปได้ที่จะเร่งพัฒนาการ concept เกี่ยวกับ conservation เขาทดลองโดยการนำดินเหนียวมา 2 ก้อน ทำก้อนหนึ่งให้แบน และแล้วเอาดินเหนียวออกจากก้อนนี้เสียบ้าง เพื่อให้เล็กกว่าอีกก้อนหนึ่ง วิธีนี้จะทำให้เด็กหยุดและคิด เด็กกลุ่มทดลองเข้าใจ concept ของขนาดได้เร็วกว่ากลุ่มควบคุม แต่เมื่อทั้งสองกลุ่มถูกตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายปัญหาการคงตัวของน้ำหนัก นักเรียนในกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับ concept ตามวิธีธรรมชาติ สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้มากกว่านักเรียนกลุ่มทดลอง

          ผลจากการทดลองนี้สนับสนุนความคิดของ Piaget ว่า การบังคับให้เด็กเรียนจะทำให้เด็กเข้าใจเพียงผิดเผินเท่านั้น แต่ความเข้าใจที่แท้จริงจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อเด็กมีพัฒนาการทาง ด้านความเข้าใจด้วยตนเอง

          โรงเรียนที่ดีจะต้องสนับสนุนกิจกรรมของเด็ก รวมทั้งการสำรวจและการได้ลงมือกระทำของเขาด้วย ถ้าครูพยายามที่จะใช้วิธีลัดโดยวิธีบอก หรือป้อนความรู้ให้แก่เด็กด้วยการพูดอธิบายให้ฟัง ผลก็คือเด็กจะเรียนรู้อย่างผิวเผินเท่านั้น แต่การจัดกิจกรรมขึ้นในห้องเรียนครูจะสามารถยั่วยุให้เด็กใช้ความสามารถที่มีในตัวให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้เด็กได้มีความเข้าใจโลกรอบ ๆ ตัวเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป งานที่สำคัญของครูก็คือ การเตรียมอุปกรณ์ที่น่าสนใจต่าง ๆ ที่จะยั่วยุให้เด็กได้ใช้ความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ครูไม่ควรมุ่งแต่จะสอน แต่ควรสนับสนุนให้เด็กเรียนโดยการได้ ลงมือกระทำด้วยตนเอง ได้หยิบโน่นจับนี่ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนด้วยตนเอง

          ทั้ง Piaget และ Bruner แนะว่า ในการสอนระดับอนุบาลนั้น ครูจะต้อง สนองความต้องการของเด็กอย่างทันท่วงทีและให้มีบรรยากาศที่ผ่อนปรนไม่ตึงเครียด เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ถ้าเด็กได้รับการสอนอย่างเป็นพิธีรีตองเกินไป (formal instruction) จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวการตอบผิด และจะทำให้เกิดความตึงเครียดได้ง่ายกว่าการสอนในบรรยากาศที่เป็นกันเอง


ระดับประถมต้น

        ความเข้าใจของเด็กในเรื่อง conservation ถือว่า เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ทำให้ครูและนักศึกษาทั้งหลายพยายามที่จะสอนเพื่อ “เร่ง” เด็กให้ได้ concept นี้ก่อนที่จะถึงเวลา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะสามารถเร่งให้เกิด concept นี้ได้เร็วขึ้นนิดหน่อยเท่านั้นเอง และเด็กไม่สามารถนำไปอธิบายในสถานะการณ์อื่น ๆ ได้ โดยแท้จริงแล้ว เปียเจท์เห็นว่าไม่ควรจะเร่งควรให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อถึงวัยเด็กจะเข้าใจเอง และเมื่อเข้าใจแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุก ๆ สถานะการณ์

          ผู้ที่สนับสนุนความคิดของเปียเจท์อย่างมากคือ Almy ซึ่งกล่าวว่า เราควรคำนึงถึงวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กดีกว่าการที่จะทำการทดลองเพื่อให้เด็กเกิด con-servation ซึ่งได้เสนอวิธีต่าง ๆ ในการสอนเพื่อให้มีประสิทธิภาพดังนี้

          1. ครูควรพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีของเปียเจท์ ซึ่งจะทำให้ครูทราบ ได้ว่าเด็กมีความคิดอย่างไร

          2. ถ้าเป็นไปได้ให้ประเมินระดับความคิดของเด็กแต่ละคนในชั้น แล้วให้เด็กทุกคนได้ทำการทดลองของเปียเจท์ แล้วครูสังเกตการกระทำของเด็กแต่ละคน แล้วให้เด็กอธิบายถึงการกระทำของเขา

          3. การเรียนรู้โดยการมีประสบการณ์ตรงและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ควรจัดหาอุปกรณ์และให้โอกาสเด็กได้เรียนด้วยตัวเองให้มากที่สุด

          4. จัดสถานการณ์ให้เด็กได้มีการปะทะกับสังคม (social interaction) ซึ่งจะทำให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และทางที่ดีควรจะจัดให้ เด็กเก่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเด็กอ่อน ดีกว่าที่จะแยกเด็กเก่งออกจากเด็กอ่อน

          5. จัดประสบการณ์ให้จนเด็กสามารถเกิดความคิด สามารถเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ และแก้ปัญหาได้

          6. ต้องจำไว้ว่าภาษา เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความคิด ดังนั้นในการสอนจะต้องให้เด็กเข้าใจคำต่าง ๆ เช่นมากกว่า-น้อยกว่า มากที่สุด-น้อยที่สุด

          สำหรับบรูเนอร์เห็นว่า ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ con-servation แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือความคิดเกี่ยวกับ บรรยากาศที่ผ่อนปรนมีอิสระ เด็กรู้สึกสบายใจที่จะเรียน และตอบปัญหาต่าง ๆ


ระดับประถมปลาย

          ถ้าทานได้สอนนักเรียนระดับใดระดับหนึ่งจากระดับ ป. 4-ม. 3 ท่านต้องระลึกอยู่เสมอว่า ขั้น concrete และขั้น formal operations แตกต่างกัน เพราะบางทีนักเรียนต้องการทำงานอย่างหนึ่ง บางครั้งอาจเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะเป็นการดีถ้าผู้เป็นครูจะจัด เตรียมโอกาสต่าง ๆ เอาไว้ให้มาก ๆ สำหรับนักเรียนในการอธิบายความคิดเห็นของเขาออกมาได้โดยเสรีตามความต้องการของเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรมสิ่งที่จะต้องพิถีพิถันมากก็คือ ข้อสรุปของนักเรียก เพื่อครูจะได้ทราบถึงความคิดเห็นของนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

          ถ้าจะถามว่า “การเร่ง” นักเรียนให้ข้ามขึ้นไปยังขั้น formal operations จะให้ผลดีหรือไม่ ได้มีข้อขัดแย้งซึ่งเหมือน ๆ กับที่เคยกล่าวมาแล้ว เกี่ยวกับเด็กระดับนี้นักทฤษฎีหลายท่านได้ให้ทรรศนะว่า จะเป็นการดีกว่าถ้า ปล่อยให้นักเรียนได้มีโอกาสรับรู้ประสบ-การณ์ด้วยตนเองตามอัตราความเร็ว ตามความสามารถของแต่ละคน การที่ไปเร่งเด็กใน ทางความคิดเป็นการเสียเวลา และทำให้เด็กเกิดความสับสน และมีความวิตกกังวล ด้วย Pistor (1940) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้และพบว่า การเร่งให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเวลา ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เป็นความพยายามที่สูญเปล่า เพราะเด็ก ป. 7 สามารถเรียนรู้ได้ดีเท่ากับเด็ก ป. 7 ที่เรียนข้ามชั้น ป. 6 มาโดยหลักสูตรพิเศษที่ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายและสะดวกขึ้น

          อย่างไรก็ตาม บรูเนอร์ และคนอื่น ๆ เห็นว่า เราควรช่วยเด็กประถมปลายเลื่อนไปอยู่ในขั้น Symbolic thought โดยใช้วิธี inquiry โดยใช้วิธีที่ครูช่วยจัดสภาพการที่จะกระตุ้นให้เด็กถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ (อาจจะใช้เกมส์ 20 คำถาม) และการตั้งสมมติฐานว่าทำไมสิ่งนั้น ๆ จึงเกิดขึ้น


ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

         เด็กวัยนี้สามารถคิดอย่างมีเหตุผล แต่อาจจะมิใช่เหตุผลดังที่ผู้ใหญ่คิด ดังนั้นครูอาจทราบเหตุผลของเด็กได้โดยการกระตุ้นให้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและการเขียนรายงานโดยไม่มีคะแนน สำหรับเด็กในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย



ทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคิดของ เจโรม บรูเนอร์สามารถนำมาใช้กับการศึกษาและการสอนดังนี้

       จัดกิจกรรรมการเรียนการสอนโดยเน้นที่ผู้เรียนได้ลงมือปฎิบัติด้วยตนเอง การให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติเพื่อเกิดการเรียนรู้ไม่จำกัดเฉพาะในรายวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่ในทุกรายวิชาผู้เรียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้ที่คงทนกับผู้เรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในชั้นและปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนเอง ให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ ในทุกรายวิชาทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถจัดกิจกรรมโดยการให้ผู้เรียนลงมือ ทำอาทิเช่น การเรียนการสอนแบบโครงงาน

ตัวอย่างกิจกรรมและหัวข้อเรื่องอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดไล่ไปถึงยากที่สุดก็ได้และลักษณะกิจกรรมก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามผู้ที่วางแผนการสอนและผู้สอน เช่น สมมุติว่าเนื้อหาที่เรียนเป็นเรื่อง “พืช” ผู้สอนอาจจะแบ่งกลุ่มให้ผู้เรียนช่วยกันคิดว่าอยากรู้อะไรเกี่ยวกับพืช (ผู้สอนต้องคอยดึงประเด็นไม่ให้นอกเรื่องมากเกินไปด้วย) แล้วให้แต่ละกลุ่มก็ไปหาเมล็ดพืชที่ตัวเองสนใจมาปลูก สัปดาห์แรกอาจจะกำหนดเป็นพืชผักสวนครัว เมื่อปลูกเสร็จก็ให้ผู้เรียนวางแผนการขาย และขั้นตอนสุดท้ายคือนำเสนอผลงานหน้าห้องกิจกรรมนี้สิ่งที่ผู้เรียนรู้ก็คือพืชสวนครัวมีอะไรบ้าง แล้วขั้นกิจกรรมนี้สิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ก็คือพืชสวนครัวมีอะไรบ้างแล้วขั้นตอนการปลูก การวางแผนการขายต้องกำหนดต้นทุน ราคา และคิดหากำไร



สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ การลงมือทำผู้เรียนจะเกิดประสบการณ์ตรง แล้วใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงให้ดีขึ้นผู้เรียนมีการปฏิบัติสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ มากมายผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้เมื่อได้ลงมือปฏิบัติผู้เรียนจะจำความรู้ได้แม่นและนานกว่าการท่องจำเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จากการทำกิจกรรม


   สรุป
   
      บรูเนอร์มีความเห็นว่า คนทุกคนจะมีพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจ โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า acting, imaging และ symbolizing เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต มิใช่ว่าเกิดขึ้นเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งในระยะแรก ๆ ของชีวิตเท่านั้น


               วีดีโอทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์







                                         แบบทดสอบ

1.ทฤษฎีพัฒนาการของบรูเนอร์ เป็นตัวเชื่อมระหว่างทฤษฎีความรู้กับทฤษฎีอะไร?

                       ก.ทฤษฎีทางปัญญา

                       ข.ทฤษฎีทางด้านอารมณ์

                       ค.ทฤษฎีการสอน

                       ง.ทฤษฎีการเรียนรู้


2.ทฤษฎีพัฒนาการของบรูเนอร์ เป็นทฤษฎีคู่ขนานกับทฤษฎีของนักจิตวิทาคนใด?

                      ก.ฟรอยด์                            ข.อิริคสัน

                      ค.โรเบิร์ด เจ ฮาวิกเฮิร์ส      ง.เพียเจท์

   
3.บรูเนอร์ได้จัดขั้นพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กหรือโครงสร้างทางสติปัญญาไว้ากี่ขั้น?

                         ก. 2 ขั้น               ข. 3 ขั้น

                         ค. 4 ขั้น               ง. 5 ขั้น



4.อิทธิพลต่อการศึกษาของเด็กประถมปลายอยูในขั้นใด?

       ก. ขั้น Iconic representation      

       ข. ขั้น Enactive representation

       ค. ขั้น  Symbolic representation      

       ง. ขั้น  Iconic representation  ไปสู่ symbolic  representation


5.บรูเนอร์ได้กล่าวถึงทฤษฎีในการจัดการเรียนการสอนว่าควรประกอบด้วยลักษณะสำคัญ  4  ประการ ยกเว้นข้อใด?

         ก.การเสริมแรงของผู้เรียน

         ข.โครงสร้างของบทเรียนซึ่งต้องจัดให้เหมาะสมกับผู้เรียน

         ค.การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

         ง.ผู้เรียนต้องมีแรงจูงใจภายใน มีความอยากรู้ 
            อยากเห็นสิ่งต่างๆรอบตัว


6.เจมส์จะหยุดรถทุกครั้งเมื่อสัญญาณไฟแดง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ตัวเอง การกระทำของเจมส์อยู่ในขั้นใดของบรูเนอร์?

                   
                       ก. ขั้นแสดงการคิดด้วยการกระทำ                 

                       ข. ขั้นการคิดจากสิ่งที่มองเห็น

                       ค. ขั้นการคิดโดยใช้สัญลักษณ์                       

                       ง. ขั้นการคิดริเริ่ม


7. บอยไม่กล้าเดินข้ามถนนเพราะ บอยเคยเห็นสุนัขถูกรถชนจากข้างต้นจะอยู่ในระดับใด ของบรูเนอร์?

                       ก. ระดับประถมต้น                                        

                       ข. ระดับประถมปลาย                          

                       ค. ระดับมัธยมศึกษา                                      

                       ง. ระดับมัธยมปลาย


8. Jerome S.Bruner เป็นผู้ที่มีความเห็นว่าในการจัดการเรียนการสอนนั้น ควรเป็นไปในรูปแบบใด?

    ก.บรูเนอร์คิดว่าไม่ต้องรอให้เด็กพร้อมตามธรรมชาตินั้นเด็กจะ
        มีพัฒนาการที่เก่งกว่า
    ข.บรูเนอร์คิดว่าการที่เรารอให้เด็กพร้อมตามธรรมชาตินั้นเด็กจะ
        มีพัฒนาการที่เก่งกว่า
    ค.บรูเนอร์คิดว่าการรอพัฒนาการของเด็กจะทำให้เด็กมีความ
        พร้อมมากกว่า
    ง. บรูเนอร์คิดว่าการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับครูที่จะพัฒนาเด็กใน
        รูปแบบใดก็ได้



9.ข้อใดกล่าวถึงพัฒนาการของบรูเนอร์ไม่ถูกต้อง?

ก. บรูเนอร์ไม่ได้คำนึงถึงอายุ เห็นว่ากิจกรรมต่างๆที่เด็กทำอันเนื่องมาจากพัฒนาทาง สมองที่เกิดในช่วงแรกเกิดของชีวิต คนสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในช่วงหลังๆของชีวิตได้อีกด้วย

ข.บรูเนอร์คำนึงในแง่ของการกระบวนการที่ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

ค.บรูเนอร์เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งแวดล้อมบางอย่าง
จะทำให้พัฒนาการทางสมองช้าลงหรือชะงักลงและสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะช่วยให้พัฒนาการเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ง.บรูเนอร์มองเห็นว่าพัฒนาการทางสมองของเด็กมีขั้นตอน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ กำหนดลงไป เลยว่าเด็กในวัยใดจะมีพัฒนาการทางสมองในเรื่องใด



10.บรูเนอร์ได้ทำการทดลองในขั้นที่เท่าไหร่?

               ก. ขั้นที่  1           ข. ขั้นที่  2

               ค. ขั้นที่  3           ง.  ขั้นที่ 4

                  
   เฉลยข้อสอบ


             1.   ค                   2.   ง

             3.   ข                   4.   ง
           
             5.   ค                   6.   ค

             7.   ก                   8.   ก

             9.   ง                   10. ข